เพิ่ม HTML

วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2552

E-Government in Action

E-Government in Action
นฤมล วีระสถิตย์

ภาครัฐกับการก้าวสู่รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เบื้องหน้าเบื้องหลังการก้าวสู่ e-Government ในหน่วยงานภาครัฐ
ภาครัฐนั้นถือว่ามีบทบาทเป็นระดับแนวหน้าในการบริหารราชการแผ่นดินและรัฐบาลทั่วโลกต่างก็เผชิญความท้าทายเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ ทำอย่างไรในการที่จะนำระบบสารสนเทศเข้ามาปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของหน่วยงานและการปรับปรุงบริการของภาครัฐ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ก็เพื่อให้การบริการเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วและโปร่งใส ตลอดจนการบริการอย่างทั่วถึงและเสมอภาค กระแสความต้องการเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตั้งเป้าหมายในการบรรลุผลสำเร็จดังกล่าวโดยการสร้าง e-Government หรือ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ขึ้นมาและปรากฏให้เห็นเด่นชัดครั้งแรกในระยะ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีการจัดประชุม Global Forum ในเรื่อง e-Government ขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงวอชิงตันดีซี และล่าสุดในเดือนมีนาคมที่เพิ่งผ่านมานี้ รัฐบาลอิตาลีได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Global Forum on e-Government ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 ขึ้นและจะนำผลสรุปจากการประชุมเข้าไปบรรจุในวาระการประชุมกลุ่มประเทศ G-8 ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในเดือนกรกฎาคม ที่จะถึงนี้ที่เมืองเจนัว ประเทศอิตาลี ในขณะเดียวกันองค์การสหประชาชาติ โดยหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและสังคมได้กำหนดลำดับความสำคัญในการส่งเสริมการใชช้ IT โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา สำหรับในส่วนของธนาคารโลกได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลในเรื่องนี้โดยตรง และธนาคารโลกได้ให้คำจำกัดความคำว่า e-Government ไว้ได้ดีพอสมควร ว่า รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง การใช้ ICT (Information and Communications Technologies) ในการปรับปรุงประสิทธิภาพความสัมฤทธิ์ผล ความโปร่งใสและความเชื่อถือได้ของรัฐบาล
จากงานสัมมนา CIO Conference เรื่อง e-Government in Action ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2544 ณ ห้องบางกอกคอนแวนชั่น โรงแรมโซฟิเทลเซ็นทรันพลาซ่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะประธารคณะทำงานด้านการสร้างรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ได้กล่าวไว้าว่า
ในส่วนของประเทศไทยนั้นได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว นับแต่การจัดตั้งคณะทำงานชุดต่าง ๆ ใน e - Thailand ซึ่งเป็นผลพวงมาจาก e - ASEAN ที่ได้ไปทำความตกลงมาแล้วในปีที่ผ่านมา โดยในชุดของ e - Government ภายใต้ e - Thailand นั้น ได้แต่งตั้งให้เป็นประธานคณะทำงาน และให้ดำเนินการจัดตั้งโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมา โดยมีผู้สนับสนุนร่วมจาก 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี สภาพัฒน์ฯ สำนักงบประมาณ และสำนักงาน กพ. ซึ่งหัวหน้าหน่วยงานทั้ง 4 หน่วยดังกล่าว รวมทั้งประธารคณะทำงานด้านการสร้างรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ได้ลงนามในเอกสารโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โครงการนี้เป็นทีมงานที่มาจากหลายหน่วยงานหลักของภาครัฐซึ่งทีมงานส่วนหนึ่งจะทำงานโครงการนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีสำนักงานโครงการตั้งอยู่ที่เนคเทค ระยะเวลาโครงการ 2 ปี
รูปธรรมของโครงการนี้เป็นการปูแนวทางการดำเนินงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในระยะยาวต่อไป ได้แก่การวางแผนหลัก แผนปฏิบัติการ กรอบกลยุทธ์ รวมทั้ง การดำเนินการโครงการตัวอย่างนำในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การให้บริการ ข้อมูลข่าวสารแบบออนไลน์ การให้บริการพื้นฐาน เช่นการขอทำบัตร การจดทะเบียนต่าง ๆ แบบออนไลน์ การก่อตั้ง Payment Gateway และการดำเนินการในเรื่อง e - procurement ซึ่งกรอบการดำเนินงานเหล่านี้ไม่แตกต่างจากสิ่งที่ประเทศนำต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นได้วางเป้าหมายไว้สำหรับการดำเนินงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
การก้าวสู่ e - Government ของภาครัฐนั้นไม่ใช่สิ่งที่สามารถเนรมิตความสำเร็จได้ภายในพริบตา เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐทุกหนแห่งในโลกนี้ได้อยู่ในกรอบ ระเบียบ และวิธีการที่ล้าสมัยและไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ด้วยเหตุนี้ในการดำเนินงานเพื่อก้าวสู่ e - Government มีสิ่งที่รัฐบาล รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาดำเนินการ จึงพอจะกล่าวถึงในที่นี้เป็นลำดับดังนี้

รัฐจะต้องตระหนักถึงบทบาทของ IT และนำมาใช้ประโยชน์
มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาคือ การใช้ IT ในหน่วยงานของรัฐจะก่อให้เกิดการคิดใหม่ทำใหม่ กล่าวคือ การปรับตัวจากองค์การที่มีธรรมเนียมปฏิบัติที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลง ไปสู่องค์ทกรทันสมัยที่มีการปรับตัวและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน
สำหรับประเทศกำลังพัฒนา IT จะช่วยสร้างโอกาสให้แก่รัฐบาลในการสร้างรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายของโลก และเป็นการก้าวกระโดดในการปรับกระบวนการทำงานโดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในสำนักงานเพื่อวิธีการทำงานใหม่ และใช้เครื่องมือของ IT ในการเปิดรับข้าราชการที่มีความชำนาญในด้านต่าง ๆ
บทบาทของ IT และอุปกรณ์สื่อสารจะเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ได้แก่ บทบาทในอนาคตของโทรทัศน์ดิจิตอล และอินเทอร์เน็ตในรุ่นต่อไป การศึกษาผ่านระบบ IT จะเพิ่มสูงขึ้น การเข้าถึงของประชาชนจะกระทำได้ง่ายและสะดวกขึ้นโดยรัฐบาลมีส่วนสนับสนุน
การใช้ประโยชน์ IT ในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับประชาชนในการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ระบบการติดต่อราชการที่สลับซับซ้อนจะถูกแทนที่ด้วยระบบใหม่ที่ใช้ IT ซึ่งสามารถตอบสนองประชาชนและภาคธุรกิจได้ทั้งในเรื่องของการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายด้วยระบบ Single Portals และ Single Application แบบ Online ของภาครัฐ

การปรับเปลี่ยนและการปฏิรูป
การดำเนินงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รัฐบาลจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ โดยการยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัติแบบเดิม ๆ ซึ่งมีขั้นตอนซับซ้อน ซึ่งวิธีการแบบเก่าจะไม่เอื้ออำนวยการร่วมมือกับระหว่างหน่วยงาน การดำเนินงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ต้องการกลยุทธ์การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management Strategy) ประเด็นหลักก็คือ การจัดการเพื่อเปลี่ยนแปลงจากการใช้กระดาษไปสู่รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์.ปรับกระบวนการทำงานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในหน่วยงาน และตอบสนองต่อผู้ใช้บริการ กำหนดรอบการทำงานและเครื่องมือที่จำเป้นต้องใช้ในการให้บริการของภาครัฐ รวมทั้งระเบียบ วิธีการ และกฎหมายที่จำเป็นในการสนับสนุนวิธีการให้บริการแบบใหม่ การปฏิรูประบบราชการ ซึ่ง ก.พ. คงต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้การก้าวสู่รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปได้ในภาคปฏิบัติ

การดำเนินงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
ในการสร้างรัฐบาลอเล็กทรอนิกส์จะต้องคำนึงถึงกลยุทธ์ที่สามารถใช้ได้ในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่แน่นอน ได้แก่ รัฐบาลต้องการอะไรจากการดำเนินงานของรัฐบาล อิเล็กทรอนิกส์ รัฐบาลมองหาแนวทางใหม่ในการให้บริการประชาชน หรือเพียงแต่ต้องการใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์มาให้บริการตามแนวทางการทำงานแบบเดิม
สิ่งที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรกในการสร้างรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ก็คือ การจัดทำแผนปฏิบัติการด้าน IT (IT Action Plan) และการปรับกระบวนการทำงานของภาครัฐ
รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์จะประสบผลสำเร็จโดยอยู่บนสมมติฐานที่ว่าประชาชน และภาคธุรกิจสามารถมีเครื่องมือในการติดต่อกับรัฐบาลแบบออนไลน์ได้ การดำเนินงานเพื่อให้เกิดการให้บริการประชาชนจะมีงานด้านเทคนิคเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งภาครัฐจะต้องพัฒนาความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาขีดความสามารถในด้านเทคนิค เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการให้บริการประชาชน
รัฐบาลจะต้องรับประกันความปลอดภัยและความเชื่อถือได้ของการให้บริการออนไลน์ หรือ กล่าวโดยตรง ก็คือ การคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนและข้อมูลส่วนตัวด้วย รัฐบาลจะต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจถึงโอกาสที่จะได้รับในการบริการที่ไม่ซับซ้อน การปรับปรุงการให้บริการซึ่งเป็นแนวทางใหม่
รัฐบาลจะต้องสามารถดำเนินงานได้อย่างสัมฤทธิ์ผลของการบริการแบบออนไลน์ ตรงตามความคาดหวังของประชาชนในเรื่องความสะดวก รวดเร็ว เวลาที่ให้บริการ ความง่าย และการตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรม
รัฐบาลจะต้องลดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการของรัฐบาล รัฐบาลจะต้องมีความสามารถในการบูรณาการ (Integrate) ระบบสารสนเทศ เพื่อให้เกิดแหล่งข้อมูลเดียวกันที่ตอบสนองบริการพื้นฐานสำหรับประชาชน

ลดช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำจากการใช้ IT
การใช้ IT ของภาครัฐจะช่วยให้ประชาชนถึงการให้บริการต่าง ๆ ของภาครัฐได้ทุกที่ ทั่วไทย ทันใด ทุกเวลา ซึ่งเป็นการเปิดยุคใหม่ของการให้บริการของภาครัฐ ประชาชนไม่ต้องเป็นผู้รอรับบริการอย่างเช่นในระบบเก่า ในขณะที่ รัฐบาลสามารถใช้ IT เป็นเครื่องมือในการให้บริการประชาชนได้คราวละมาก ๆ ทำให้ประชาชนสามารถคาดหวังในสิ่งที่ตนเองต้องการจากรัฐได้ และรัฐบาลเองก็ถือโอกาสนี้ในการปรับปรุงบริการและภาพพจน์ของภาครัฐ
รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เป็นการเปิดศักราชใหม่ของการให้บริการประชาชนให้เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และปรับปรุงการให้บริการต่าง ๆ อาทิเช่น ร้านบริการเบ็ดเสร็จ (Electronic One Stop Shop) การบริการแบบออนไลน์ (Online Services) ซึ่งบริการเหล่านี้สามารถเข้าถึงได้ทุกหนทุกแห่ง ทุกชนชั้น ทำให้สามารถลดช่องว่างทางสังคมและเศรษฐกิจได้
การปรับปรุงการให้บริการภาคธุรกิจของรัฐบาล เป็นการสร้างความเท่าเทียมกันให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ซึ่งโดยปกติจะมีข้อจำกัดในเรื่องความพร้อมด้านทรัพยากร
ระบบการจัดซื้อจัดจ้างแบบออนไลน์จะช่วยให้การแข่งขันทางธุรกิจในการประมูลงานการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเป็นไปอย่างยุติธรรม โปร่งใส และมีความเท่าเทียมกัน
ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและสังคมประชาชน จะช่วยส่งเสริมให้เกิดจุดหักเหจากความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอลกลายเป็นโอกาสทางดิจิตอลได้ (Digital Opportunity)

ฝันให้ไกล ไปให้ถึง e-Government
ทุกวันนี้เราพูดถึงกันมากมายในเรื่อง ระบบเศรษฐกิจใหม่ ระบบเศรษฐกิจแบบดิจิตอล ตลอดจนระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ กระแส "e" ทั้งหลายได้แพร่หลายในภาคเอกชนมาก่อนแล้ว ทั้งในเรื่อง e - Business และ e - Commerce โดยภาคธุรกิจได้ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการดำเนินธุรกิจการค้าในรูปแบบต่าง ๆ ในทุกสังคมโลกกำลังได้รับผลพวงของ IT ไม่เว้นแม้แต่ภาครัฐซึ่งกระแส e - Government กำลังรุกเข้าใกล้ตัวเข้ามาที่อยู่ในหน่วยงานภาครัฐ และเราซึ่งเป็นประชาชนก็ได้เริ่มรับรู้และเรียนรู้ถึงกระแสดังกล่าวได้ จากที่ได้รับทราบถึงนโยบายของภาครัฐในเรื่องของ e – Government กันเราแล้วว่าเราคงจจะหลีกเลี่ยงในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศกันไม่พ้นแน่นอน เมื่อหลายปีก่อนประเทศไทยมีการรณรงในเพื่อให้คนในประเทศสามารถอ่านออกเขียนได้ นับจากนี้ไปรัฐบาลคงจะต้องรณรงในเรื่องของการเรียนรู้ในเทคโนโลยีสารสนเทศ และอินเทอร์เน็ต เพราะจากนี้ไปชีวิตของเรานับจากการเกิด แก่ ไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตคุณจะต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสื่อกลางในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ

ผู้บริหารต้องคิด Present Value เพื่อการบริหารงบประมาณที่แม่นยำ

ผู้บริหารต้องคิด Present Value เพื่อการบริหารงบประมาณที่แม่นยำ
ปัญญา เปรมปรีดิ์

ผู้บริหารต้องคิด Present Value ให้เป็น เพื่อที่จะคิดถึงเรื่องการใช้งบประมาณต่าง ๆ ในแต่ละปีให้กลับมาเป็น "ค่าปัจจุบัน" หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Present Value
ผู้บริหารต้องคิด Present Value เป็น
ผมเห็นหน่วยงานหนึ่งเสนอโครงการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อรับส่งข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามา เขาต้องการเงิน 181 ล้านบาท นี่เป็นโครงการระยะที่ 3 แล้ว หรือคือได้มีการขอและจัดหามาแล้ว สิ่งที่เขาต้องการคือตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียมเพิ่มจาก 4 แห่งให้เป็น 25 แห่ง แต่ละแห่งเสียเงินซื้อจานดาวเทียมจานละ 5 ล้านกว่าบาท และเมื่อบวกกับอุปกรณ์อื่น ๆ เช่นตู้ชุมสาย PABX เร้าเตอร์, อีเทอเน็ตสวิทชิ่ง เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์...ก็ตกเข้าไปแห่งละ 8-9 ล้านบาท โครงการนี้ได้รับอนุมัติอย่างสะดวก เพราะใคร ๆ ก็สนับสนุนรัฐบาลยุคนั้นเห็นแก่สิ่งแวดล้อม แต่หน่วยงานเกิดจัดหาเพิ่มไม่ได้ ทั้งนี้เพราะค่าเงินดอลล่าร์มันขึ้น เขาก็เลยส่งกลับเข้ามาของวงเงินเพิ่มเป็น 220 ล้านบาท มาคราวนี้เกิดมีคนสนใจเรื่องวิธีคิดเปรียบเทียบในด้านการลงทุน จึงขอให้หน่วยงานกลับไปทำตัวเลขเปรียบเทียบระหว่างการใช้จานดาวเทียมกับการเช่าสายภาคพื้นดิน มันก็เลยแดงออกมาว่าผู้บริหารของหน่วยงานดังกล่วคิดเรื่องเงินไม่เป็นคือไม่มีการเปลี่ยนเงินที่จะต้องจ่ายในปีต่าง ๆ ให้กลับมาเป็น "ค่าปัจจุบัน" หรือที่ฝรั่งเรียกว่า "Present Value" แถมยังพยายามจะปิดข้อมูลเพื่อให้เห็นว่าต้องลงทุนซื้อจานดาวเทียม เรื่องก็เลยถูกตีกลับและให้ศึกษากันใหม่
ครับ จริง ๆ แล้วมี 2 ประเด็นในโครงการนี้ ประเด็นแรกคือการเปรียบเทียบเทคโนโลยีการสื่อสารแบบใช้ดาวเทียมกับการสื่อสารที่ใช้ไฟเบอร์ออฟติค ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริหารด้านไอทีไปจนถึงซีอีโอควรจะรู้เอาไว้บ้าง ส่วนประเด็นที่ 2 คือ การเปรียบเทียบโครงการหรือวิะการที่จะใช้ในโครงการนั้นมันต้องคิดค่าของเงินให้เป็นค่าปัจจุบัน แล้วจึงจะนำมาเปรียบเทียบกันได้เจ้าประเด็นที่ 2 นี้เป็นหลักการที่สำคัญ ผมจึงจะขอพูดเสียก่อนเสร็จแล้วจะจบท้ายด้วยประเด็นทางเทคนิค

Present Value คืออะไร
Present Value ก็คือค่าของเงิน ณ จุดเริ่มต้นของโครงการ เงินที่เราจะต้องจ่ายไปในโครงการนั้นมิใช่ว่าจะจ่ายในวันแรกไปหมดทุกเรื่องการจ่ายเงินต้องเป็นไปตามกำหนดเวลา เช่น บางอย่างจ่ายเมื่อเซ็นสัญญา บางอย่างจ่ายเมื่อตรวจรับเสร็จ บางอย่างจ่ายเป็นรายเดือนหรือรายปีตามที่ตกลงกันไว้ เงินก้อนต่าง ๆ เหล่านี้เราต้องคิดว่าจะมีค่า ณ วันเริ่มต้นโครงการเท่าใด ถ้า r เป็นอัตราดอกเบี้ยต่อหน่วย (ถ้าบอกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ให้เอา 100 ไปหารเสียก่อน) n เป็นระยะเวลาจากจุดเริ่มต้นโครงการไปจนถึงวันที่จ่ายเงิน และ P เป็นจำนวนเงินที่จ่าย เราก็จะใช้หลักการคิดดอกเบี้ยทบต้นธรรมดา ๆ ได้ว่า Present Value * (I-r)n = P หรือคือ
Present Value = P/(I+r)n
อนึ่งควรสังเกตว่า n นั้นเป็นจำนวนปี มันอาจมีเศษทศนิยมอยู่ด้วยก็ได้

ทำไมต้องคิดเป็น Present Value
เรื่องนี้ที่จริงแล้วน่าจะมาจากแขก เพราะแขกที่ทำธุรกิจต่าง ๆ นั้นเขามักจะใช้นโยบายว่า เป็นเจ้าหนี้ต้องรีบทวงถามและเก็บเงินแต่ถ้าเป็นลูกหนี้ต้องพยายามจ่ายให้ช้าที่สุด ที่เขาคิดกันอย่างนี้มี 2 สาเหตุ เหตุแรกก็คือ เก็บหนี้ได้เร็วก็จะได้นำเงินมาฝากแบ็งก์ซึ่งจะได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จ่ายหนี้ให้ช้าก็เพื่อเอาเงินนั้นมาฝากกินดอกเบี้ยไปก่อน ส่วนสาเหตุที่ 2 ก็คือเงินตอนนี้ย่อมมีค่ามากกว่าเงินในอนาคต
ครับ ๆ ฟังแค่นี้ก็น่าจะเห็นภาพแล้วนะครับว่าการลงทุนอะไรก็ตาม ถ้ารวมยอดเงินเป็นจำนวนเท่ากันก็ควรเลือกหนทางที่จ่ายเงินช้าที่สุด ทั้งนี้เพราะเงินส่วนที่ยังไม่ได้จ่ายออกไปนั้นเราสามารถนำไปฝากธนาคารพาณิชย์เพื่อเอาดอกเบี้ยไปก่อนเมื่อถึงวันที่ต้องชำระหนี้จึงค่อยเบิกออกมาจ่ายเขาไป ทำจนจบโครงการแล้วก็จะได้ดอกเบี้ยเป็นส่วนเกิน มันดีกว่าการจ่ายครั้งเดียวในวันเริ่มต้นของโครงการ
โอเค ทีนี้เราลองมาดูว่าแนวคิดนี้จะเอามาประยุกต์ในการเลือกหนทางการลงทุนให้แก่หน่วยงานที่กล่าวมาได้อย่างไร
ในโครงการนี้จริง ๆ แล้วหน่วยงานมีทางเลือกใหญ่ ๆ 2 ทางเลือก ทางแรกคือซื้อจานดาวเทียมมาติดตั้ง 21 จังหวัดตาที่ขอมาในครั้งที่สอง ทางแรกนี้หน่วยงานจะต้องจ่ายเป็นเงินก้อนโต เพราะเป็นการซื้อและติตั้งจานดาวเทียม ตามแผนงานแล้วปีที่ 1 จะติดตั้ง 6 แห่ง ปีที่ 2 จะติดตั้ง 8 แห่ง และปีที่ 3 จะติดตั้ง 7 แห่ง ถ้าคิดราคาคร่าว ๆ แห่งละ 8.5 ล้านบาทก็จะจ่ายในปีที่ 1 เป็นเงิน 51 ล้านบาท หลังจากนั้นก็ใช้งานไป และต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาเป็นรายปีไปเครื่องมือเหล่านี้ก็คงจะใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี อย่างนี้เราก็จะรวมเป็นค่าใช้จ่ายได้
แต่...เขาไม่ให้เอาเลขจำนวนเงินมาบวกกันดื้อ ๆ นะครับเราควรคิดว่าเราจะต้องเอาเงินมาฝากไว้ที่ธนาคารพาณิชย์เป็นจำนวนเท่าใดจึงจะพอจ่ายในโครงการนี้ นี่คือ Present Value ของเงินลงทุนทั้งหมด ผมจะสมมุติเป็นกรณีย์ตัวอย่างให้ดู คือลองคิดระยะเวลาของโครงการเป็น 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 5 ต่อปี และค่าบำรุงรักษาเป็นร้อยละ 10 ต่อปี (ของราคาสินค้า) อย่างนี้เราจะคำนวณได้ดังนี้
1. ค่าติดตั้งจานดาวเทียมในปีที่ 1 เป็นจำนวน 51 ล้านบาท จ่ายเงิน ณ. วันสิ้นปี คิดเป็นค่าปัจจุบัน = 51/(1.05) = 48.57 ล้านบาท
2. ค่าติดตั้งจานดาวเทียมในปีที่ 2 เป็นจำนวน 68 ล้านบาท จ่ายเงิน ณ. วันสิ้นปีที่ 2 คิดเป็นค่าปัจจุบัน = 68/(1.05)2=61.67 ล้านบาท
3. ค่าติดตั้งจานดาวเทียมในปีที่ 3 เป็นจำนวน 59.5 ล้านบาท จ่ายเงิน ณ. วันสิ้นปีที่ 3 คิดเป็นค่าปัจจุบัน = 59.5/(1.05)3= 51.39 ล้านบาท
4. ค่าบำรุงรักษาของเครื่องมือต่าง ๆ ในปีที่ 1 = ไม่มี
5. ค่าบำรุงรักษาในปีที่ 2 = 0.1*(51) = 5.1 ล้านบาท จ่าย ณ. วันเริ่มต้นของปีที่ 2 จึงมีค่าปัจจุบัน = 51/(1.05) = 4.85 ล้านบาท
6. ค่าบำรุงรักษาในปีที่ 3 = 0.1*(51+68) = 11.9 ล้านบาท จ่าย ณ. วันเริ่มต้นของปีที่ 3 จึงมีค่าปัจจุบัน = 11.9/(1.05)2 = 10.79 ล้านบาท
7. ค่าบำรุงรักษาในปีที่ 4 = 0.1*(51+68+59.5) = 17.85 ล้านบาท จ่าย ณ. วันเริ่มต้นของปีที่ 4 จึงมีค่าปัจจุบัน = 17.85/(1.05)3 = 15.41 ล้านบาท
8. ค่าบำรุงรักษาในปีที่ 5 = 0.1*(51+68+59.5) = 17.85 ล้านบาท จ่าย ณ. วันเริ่มต้นของปีที่ 5 จึงมีค่าปัจจุบัน = 17.85/(1.05)4 = 14.68 ล้านบาท
9. ค่าบำรุงรักษาในปีที่ 6 = 0.1*(51+68+59.5) = 17.85 ล้านบาท จ่าย ณ. วันเริ่มต้นของปีที่ 6 จึงมีค่าปัจจุบัน = 17.85/(1.05)5 = 13.98 ล้านบาท
10. ค่าบำรุงรักษาในปีที่ 5 = 0.1*(51+68+59.5) = 17.85 ล้านบาท จ่าย ณ. วันเริ่มต้นของปีที่ 7 จึงมีค่าปัจจุบัน = 17.85/(1.05)6 = 13.31 ล้านบาท
11. ค่าบำรุงรักษาในปีที่ 8 = 0.1*(51+68+59.5) = 17.85 ล้านบาท จ่าย ณ. วันเริ่มต้นของปีที่ 8 จึงมีค่าปัจจุบัน = 17.85/(1.05)7 = 12.68 ล้านบาท
12. ค่าบำรุงรักษาในปีที่ 9 = 0.1*(51+68+59.5) = 17.85 ล้านบาท จ่าย ณ. วันเริ่มต้นของปีที่ 9 จึงมีค่าปัจจุบัน = 17.85/(1.05)8 = 12.08 ล้านบาท
13. ค่าบำรุงรักษาในปีที่ 10 = 0.1*(51+68+59.5) = 17.85 ล้านบาท จ่าย ณ. วันเริ่มต้นของปีที่ 10 จึงมีค่าปัจจุบัน = 17.85/(1.05)9 = 11.50 ล้านบาท
และผมก็เชื่อว่ามันมีผลรวมของค่า Present Value ที่ต่ำกว่าการลงทุนแบบที่ 1 ที่ผมเชื่อเช่นนั้นก็เพราะเทคโนโลยีดาวเทียมนั้นเป็นเทคโนโลยีที่เริ่มหมดสมัยแล้ว ค่ายิงดาวเทียมนั้นแพงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ค่าวางสายสื่อสารภาคพื้นดิน (ด้วยไฟเบอร์ออฟติค) นั้นถูกลงเรื่อย ๆ อุปกรณ์ที่ใช้ก็มีค่าบำรุงรักษาที่ต่ำกว่า ทั้งนี้เพราะมันอยู่ในที่ร่มตัวเคเบิลใยแก้วนำแสง (ไฟเบอร์ออฟติค) นั้นก็ฝังดินเอาไว้ถึงจะมีโอกาสถูกคนเอารถขุดดินไปขุดโดนเข้า แต่ก็มีเครือข่ายทางอื่นเข้ามาทดแทนได้ทันที แล้วก็ยังสามารถซ่อมแซมส่วนที่ถูกตัดทำลายให้คืนดีได้ ในด้านความเร็วของการรับส่งก็สูงกว่ามาก มันอาศัยการแยกข้อมูลเป็นท่อน ๆ แล้วส่งกระจายออกไปหลายทิศทางในเครือข่ายแล้วไปรวมตัวที่ปลายทาง มันจึงสามารถใช้ประโยชน์จากสายเคเบิลที่วางเอาไว้เกือบทั้งหมดได้พร้อม ๆ กัน แต่การส่งผ่านจานดาวเทียมนั้นจะต้องไปแบ่งเวลากันใช้ที่ตัวดาวเทียม มันจึงทำงานได้ช้ากว่า
ครับ ข้างบนนั้นคือหลักในการเปรียบเทียบโครงการ จริง ๆ แล้วเราสนใจแค่ค่า Present Value ของทั้ง 2 ทางเลือก เพราะเราจะเลือกอันที่มีค่า Present value ต่ำกว่า ส่วนของความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และราคาในอนาคตนั้นเป็นเรื่องรองลงไปที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ หลังจากตัดสินใจ และทำสัญญาไปแล้ว เราไม่มีโอกาสมาเปลี่ยนแปลงได้อีก การจ่ายเงินจะเป็นไปตามสัญญา
อนึ่ง ผมอยากจะชี้ด้วยว่า ในการเปรียบเทียบ 2 หนทางเลือกข้างบนนี้เรายังคิดขาดไปอย่างหนึ่งคือ การใช้จานดาวเทียมตามที่หน่วยงานเสนอมานั้นเขามีเงื่อนไขอยู่อันหนึ่ง คือจะได้ใช้ตัวดาวเทียมของการสื่อสารฟรีไปตลอดโครงการ ซึ่งผู้เสนอโครงการถือว่าเป็นข้อได้เปรียบ แต่จริง ๆ แล้วเราต้องคิดในมุมกว้าง คือสิ่งที่ได้ฟรีมานี้มันไม่ใช่ของแท้ เพราะรัฐบาลไทยเองได้จ่ายเงินไแล้วการเปรียบเทียบที่ถูกต้องนั้นต้องเอาค่ใช้จ่ายของรัฐบาลในเรื่องนี้เข้ามารวมเป็นค่าใช้จ่ายของโครงการด้วย และต้องคิดเป็น Present Value เช่นกัน ซึ่งในกรณีย์นี้ค่า (1.05) นั้นจะไม่ใช่ตัวหารมันกลับเป็นตัวคูณ ทั้งนี้เพราะเงินที่รัฐต้องจ่ายไปเมื่อตอนยิงดาวเทียมขึ้นไปนั้น ในตอนนี้มันจะมีค่าเพิ่มขึ้น
อันที่จริงแล้ว การคำนวณหา Present Value นี้เป็นเรื่อพื้นฐานมาก เงินนั้นมีค่าแตกต่างกันเมื่อเราพูดกันคนละเวลา การซื้อสินค้าเป็นเงินสดกับการซื้อผ่อนส่งก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้สูตรการคำนวณ Present Value การเช่ากับการซื้อขาดก็เป็นเรื่องต้องคิดเช่นกันผู้บริหารต้องคิดตัวเลขแบบนี้ให้เป็น แต่จะต้องมีความชำนาญพอที่จะทำเองได้ ท่านที่ไม่เคยสนใจกับเรื่องอย่างนี้มาก่อนเลยนั้นตอนนี้ต้องสนใจแล้วละครับ

ระบบเครือข่ายกับธุรกิจ
สมชาย นำประเสริฐชัย

เมื่อกล่าวถึงธุรกิจกับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แล้วคนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อีคอมเมริช์ในอันดับแรก องค์กรต่าง ๆ ที่นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเครือข่ายมาใช้ล้วนแต่มีจุดประสงค์ด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน ทุกองค์กรที่ลงทุนพัฒนาระบบเครือข่ายย่อมหวังผลตอบแทนที่จะได้รับกลับคืนมา แต่ผลลัพธ์ขององค์กรหลายแห่งกลับไม่เป็นเช่นนั้น

เทคโนโลยีกับการแข่งขัน
ธุรกิจทุกประเภทล้วนแล้วแต่มีการแข่งขันสูง รูปแบบการดำเนินการทางธุรกิจจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาเพื่อให้สามารถแข่งขันและยืนหยัดในการดำเนินธุรกิจนั้นได้ องค์กรขนาดใหญ่มีความได้เปรียบทางด้านความพร้อมในด้านต่างๆ แต่ก็เสียเปรียบในเรื่องของความคล่องตัวการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ องค์กรขนาดเล็กมีความได้เปรียบในด้านการปรับเปลี่ยนที่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วแต่ก็เสียเปรียบในด้านต้นทุนการผลิต จึงเห็นได้ว่าธุรกิจแต่ละขนาดก็มีข้อได้เปรียบและเสียเปรียบที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะมีขนาดเล็ก หรือใหญ่ ได้ตระหนักและมีความคิดเห็นสอดคล้องกันคืออนาคตขององค์กรขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของบุคลากรและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการพัฒนาประสิทธิภาพของบุคลากรให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้เทคโนโลยีสารสนเทศยังใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจได้อีกด้วย
จากเหตผลข้างต้นทำให้หลายองค์กรลงทุนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับองค์กรเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเมื่อมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแล้วองค์กรกลับไม่รู้ว่าจะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร ทำให้องค์กรไม่ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาองค์กรและบุคลากร ปัญหาเหล่านี้มักเกิดกับองค์กรที่ผู้บริหารรู้จักเทคโนโลยีเพียงผิวเผินและต้องการลอกเลียนแบบองค์กรที่ประสบความสำเร็จเท่านั้นไม่สามารถประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศให้มีความเหมาะสมกับองค์กรของตนเองได้ องค์กรเหล่านี้มักไม่มีการสำรวจความต้องการขององค์กรและบุคลากรก่อนดำเนินการ ดังเห็นได้ตัวอย่างที่หน่วยงานทั้งของรัฐหรือเอกชนหลายแห่งที่จัดสรรงบประมาณและลงทุนกับเทคโนโลยีสารสนเทศจำนวนมากแล้วไม่มีการใช้งานหรือใช้เป็นเพียงเครื่องพิมพ์เอกสาร เครื่องเล่นซีดีเพลง หรือเครื่องมือในการดาวน์โหลดเพลงและภาพเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการแข่งขันหรือพัฒนาให้กับองค์กรเลย

องค์กรกับการใช้งานเครือข่าย
เครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีพัฒนาการมาร่วม 30 ปีแล้วแต่เริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างดีเมื่อปี พ.ศ. 2538 และในปีพ.ศ.2539 นับว่าเป็นปีที่ระบบเครือข่ายอินทราเน็ตมีการใช้อย่างแพร่หลายในองค์กรต่างๆ จำนวนมากจนถึงกับเรียกปีนี้ว่า " ปีของอินทราเน็ต (Year of the Intranet) " องค์กรต่างๆ ได้พัฒนาระบบเครือข่ายสำหรับช่วยในการทำงาน การติดต่อสื่อสาร การประสานงานและสร้างความสัมพันธ์ภายในองค์กรให้ดียิ่งขึ้น อินเทอร์เน็ตจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เทคโนโลยีอินทราเน็ตเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับอินเทอร์เน็ตทำให้การเชื่อมเครือข่ายภายในเข้ากับอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่ง่าย เมื่อองค์กรมีการเชื่อมเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแล้วทำให้พนักงานสามารถเข้าสู่แหล่งความรู้และข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นก่อให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น พนักงานสามารถรับรู้ข่าวสารขององค์กรและข่าวสารอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการทำงาน แต่ในขณะเดียวกันเครือข่ายก็อาจจะเบนความสนใจในการทำงานของพนักงานไปสู่สิ่งบันเทิงและยั่วยวนต่างๆ ที่มีอยู่ในอินเทอร์เน็ตก็เป็นได้ ผลของการใช้เทคโนโลยีขึ้นอยู่กับการจัดการไม่ใช่เทคโนโลยี ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกันสามารถให้ผลลัพท์ที่เหมือนหรือแตกต่างกันได้ เช่นองค์กรหนึ่งพนักงานใช้เทคโนโลยีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการเรียนรู้งานและค้นหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการทำงาน รวมทั้งใช้ติดต่อกับหน่วยงานภายนอกในเรื่องของงาน ในขณะที่อีกองค์กรหนึ่งพนักงานไม่ค่อยใส่ใจในการทำงาน เอาแต่ค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเช่นภาพ ไฟล์ MP3 และอื่น ๆ ที่ตนเองต้องการ ดังนั้นผลลัพท์ของการใช้อินเทอร์เน็ตของ 2 องค์กรย่อมต่างกันอย่างแน่นอน
เครือข่ายเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีสารสนเทศเท่านั้น เครือข่ายเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกัน เครื่องข่ายจึงเป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนในการดำเนินการเท่านั้น ดังนั้นผู้บริหารของแต่ละองค์กรหรือหน่วยงานที่ต้องการพัฒนาระบบเครือข่ายจำเป็นต้องมีความเข้าใจความต้องการขององค์กรและเข้าใจเทคโนโลยีก่อนเช่นคุณสมบัติ ความสามารถ ความเหมาะสมกับธุรกิจหรือองค์กร รวมถึงต้นทุนและแนวโน้มในอนาคต แล้วจึงค่อยตัดสินใจดำเนินการ นอกจากนี้การตัดสินใจการใช้เทคโนโลยียังมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องอีกเช่นต้องเลือกเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับความต้องการ รวมถึงความถนัดของบุคลากรด้วย หรือกล่าวโดยสรุปว่าผู้ตัดสินใจต้องเป็นนักจัดการทั้งทางด้านธุรกิจและเทคโนโลยี

เทคโนโลยีกับการแข่งขันทางธุรกิจ
การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการแข่งขันธุรกิจนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน แต่การมีเพียงเทคโนโลยีอย่างเดียวนั้นไม่สามารถที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาวได้ เนื่องจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก การดำเนินธุรกิจจำเป็นจะต้องมีจุดเด่นและจุดแข็งของตนเองที่ผู้อื่นไม่สามารถสร้างขึ้นหรือเลียนแบบได้
ดังสังเกตได้จากบริษัทที่สามารถผ่านวิกฤติต่างๆ และดำรงอยู่ได้ล้วนมีจุดเด่นของตนเองทั้งสิ้น หรือในธุรกิจดอทคอมที่เกิดวิกฤตการล่มสลายของดอทคอม มีเพียงธุรกิจดอทคอมที่มีธุรกิจเดิม (traditional business) เป็นหลักและใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเพียงการเพิ่มช่องทางการขยายธุรกิจเท่านั้นที่อยู่รอด

องค์กรต้องการอะไรจากเครือข่าย
องค์กรจำนวนมากที่ได้พัฒนาระบบเครือข่ายภายในและมีการเชื่อมต่อสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต องค์กรเหล่านี้ได้ใช้ระบบเครือข่ายเป็นเครืองมือในการดำเนินธุรกิจ จุดประสงค์ขององค์กรส่วนใหญ่เป็นดังนี้
1) ลดต้นทุนในการติดต่อสื่อสารและย่นเวลา องค์กรใช้เครือข่ายอินทราเน็ตเป็นเครืองมือในการติดต่อประสานงานระหว่างพนักงานภายในองค์กร หรือสำนักงานย่อยต่างๆ พนักงานสามารถติดต่อสื่อสารได้ในเวลาที่รวดเร็วโดยไม่ต้องมีการเดินทางหรือเคลื่อนย้ายไปไหน ใช้เอ็กซ์ตราเน็ตในการติดต่อกับซัพพลายเออร์ และใช้อินเทอร์เน็ตในการติดต่อกับบุคคลหรือหน่วยงานภายนอก
2) เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งความรู้ให้กับพนักงาน เป็นการช่วยเพื่อประสิทธิภาพของพนักงาน โดยการให้พนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลและแหล่งความรู้ได้ง่ายขึ้น เมื่อพนักงานมีความรู้ ความเข้าใจก็ช่วยให้งานที่ออกมานั้นมีคุณภาพที่ดีขึ้น
3) ขยายช่องทางการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ใช้ระบบเว็บไซท์นำเสนอรายการและข้อมูลที่ต้องการผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ให้กว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทั่วไป ความรู้ รายการสินค้า ดังเห็นได้จากองค์กร และหน่วยงานเกือบทุกแห่งมีระบบเว็บไซท์สำหรับเผยแพร่ข้อมูลที่หน่วยงาน
4) สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า อินเทอร์เน็ตสามารถใช้เป็นสื่อต้นทุนต่ำในการเผยแพร่และใช้ในการดูแล ให้บริการลูกค้าได้ รูปแบบบริการมีหลากหลายรูปแบบ (rich in format) ที่สามารถตอบสนองความต้องการขององค์กรและกลุ่มเป้าหมายได้ ดังเห็นได้จากองค์กรจำนวนมากใช้เว็บบอร์ดในการรับรู้ความต้องการและปัญหาจากกลุ่มเป้าหมาย หลายครั้งที่องค์กรต่างๆ ไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงของบริการหรือสินค้าของตนเองคืออะไรความคิดเห็นและข้อร้องเรียนต่างๆ จากลูกค้าช่วยให้องค์กรสามารถนำปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นมาพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการของตนเองได้ นอกจากนี้ปัญหาต่างๆ จำนวนมากกลุ่มลูกค้าก็ยังช่วยกันแก้ปัญหา นับว่าเป็นการช่วยแบ่งภาระงานบางส่วนด้วย การดำเนินการในรูปแบบนี้ปัจจุบันมีการนำไปใช้กันมาก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่
อินเทอร์เน็ตนั้นใช่ว่าจะมีแต่ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจเท่านั้น อินเทอร์เน็ตก็ได้สร้างปัญหาให้กับธุรกิจจำนวนมากเช่นเดียวกัน ปัญหาของธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของอินเทอร์เน็ตเช่นการละเมิดในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในธุรกิจเพลง ธุรกิจภาพยนตร์ และในปัจจุบันปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือก็เริ่มเป็นปัญหาที่ขยายมากขึ้นแล้ว ตัวอย่างหนังสือ วารสาร บทความต่างๆ เช่นแฮร์รี่ พล็อตเตอร์ก็ได้ถูกนำเสนอบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งนับว่าก่อให้เกิดความเสียหายกับเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้เกี่ยวข้อง
ไอทีกับธุรกิจ
การใช้เทคโนโลยีเครือข่ายขององค์กรจำเป็นต้องตระหนักถึงเรื่อง ระบบรักษาความปลอดภัย (security) ข้อผูกมัดในการจัดการ (Management Comitment) และการอบรมพนักงานให้สามารถใช้ระบบเครือข่ายให้เกิดประโยชน์ (Training) นอกจากนี้แล้วก่อนที่องค์กรจะนำเอาเทคโนโลยีมาใช้จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการเช่นความต้องการของผู้ใช้ทั้งที่เป็นพนักงานขององค์กรและลูกค้า รูปแบบของเทคโนโลยีและแนวโน้มในอนาคต และความจำเป็นขององค์กรด้วย
ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในการลงทุนระบบเครือข่ายคือหากพนักงานขององค์กรมีการใช้งานที่ไม่เหมาะและไม่ควรนอกจากเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าแล้วยังทำให้พนักงานเสียเวลาโดยไม่ก่อประโยชน์แก่องค์กร และปัญหานี้ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลายๆแห่งในขณะนี้ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีมาใช้จะต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ ความจำเป็น ความเหมาะสมในการประกอบการ ไม่ใช่ลงทุนเทคโนโลยีเพื่อเป็นแฟชั่นหรือทำตามผู้อื่นเท่านั้น

สรุป
ความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์กรหรือธุรกิจนั้นไม่ได้ขึ้นกับเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายประการเช่นกลยุทธ์การทำธุรกิจ รูปแบบและความเหมาะสมในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศกับธุรกิจ การเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต หรือเรียนรู้จากองค์กรอื่นที่ประสบความสำเร็จก็สามารถช่วยย่นเวลาในการเรียนรู้ให้เร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการนำเทคโนโลยีมาใช้จริงในองค์กรหรือธุรกิจจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมกับองค์กรและสภาวะการณ์ในขณะนั้นด้วย